นิยามศัพท์เฉพาะ
คำศัพท์และความหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย
เด็กปฐมวัย
เด็กซึ่งมีอายุ 2 - 6 ปีบริบูรณ์ในสถานศึกษาทุกสังกัดการศึกษา
ทักษะชีวิตเด็กปฐมวัย
พฤติกรรมและความสามารถของเด็กปฐมวัย ตั้งแต่ 2 – 6 ปีที่ได้รับการจัดกิจกรรมกิจกรรมปลูกพลังบวกฯ เพื่อให้เกิดการพัฒนาการในการปรับตัวและมีพฤติกรรมด้านความคิด ความรู้สึก และความสามารถในการแสดงออกอย่างเหมาะสม สามารถดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์และมีความสุข ตามองค์ประกอบดังนี้
ด้านตระหนักรู้และเห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น
การคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจและแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
การจัดการอารมณ์และความเครียด
การสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น
การปลูกพลังบวก
การสื่อสารที่สร้างสัมพันธ์ภาพที่ดี สร้างแรงจูงใจ และสร้างความหมายในชีวิต สร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจ ให้เด็กปฐมวัยเกิดความเข้มแข็ง อึด ฮึด สู้ เมื่อเผชิญปัญหาการสื่อสารที่ปลูกพลังบวกสามารถสื่อสารได้หลายทิศทาง
การสื่อสารด้วยภาษาพูด ภาษาเขียนหรือรูปภาพที่สร้างแรงจูงใจ สร้างความภาคภูมิใจ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งการสื่อสารโดยตรงจากครูถึงเด็ก และการสื่อสารผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ เช่น เพลง นิทาน ข่าวสาร ภาพกิจกรรมความสำเร็จ การให้รางวัล การยกย่องชมเชยต่อสาธารณะชน เป็นต้น
การสื่อด้วยภาษากายและสัญลักษณ์ ที่ทำให้เด็กๆมีความรู้สึกที่ดี มีความสุข อิ่มเอมใจ มีแรงฮึดที่จะกระทำในสิ่งที่ดี และสร้างสรรค์ทำสิ่งที่ท้าทายนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตประจำวัน เช่น การสัมผัส การยิ้ม การใช้สายตา การแสดงสัญลักษณ์ และการกอด เป็นต้น
จิตสำนึก (conscious mind)
สภาพที่รู้ตัวว่าคือใคร อยู่ที่ไหน ต้องการอะไร การแสดงพฤติกรรมที่แสดงออกไปตามหลักเหตุผล สอดคล้องกับหลักความเป็นจริง (principle of reality) จิตสำนึกในเด็กปฐมวัยจึงสังเกตได้จากพฤติที่แสดงออกในด้านต่างๆ
ภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง
พฤติกรรมที่เด็กแสดงออกอย่างสม่ำเสมอในการคิด วิเคราะห์ก่อนการตัดสินใจปฏิเสธสิ่งที่ทำลายสุขภาพที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า สารเสพติดการพนัน เกม สื่อออนไลน์และอบายมุข